แสงสีฟ้า หรือ แสงสีน้ำเงิน ( Blue Light ) คืออะไร

แสงสีฟ้า หรือ แสงสีน้ำเงิน ( Blue Light ) คืออะไร

                แสง มีทั้งแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและแสงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แสงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นรังสี UV ชนิดต่างๆ ส่วนแสงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือแสงสีต่างๆ ได้แก่แสงสีม่วง แสงสีคราม แสงสีแดง แสงสีเขียว แสงสีเหลือง แสงสีส้ม และแสงสีน้ำเงิน ในส่วนของแสงสีน้ำเงินหรือที่มักจะเรียกกันว่าแสงสีฟ้านั้น จะอยู่ในช่วงแสงสีเขียวอมฟ้า (blue-turquoise) ไปจนถึงแสงสีน้ำเงินอมม่วง (blue-violet) แสงสีน้ำเงินหรือแสงสีฟ้านั้นจะมีความสว่างมากที่สุด จึงถือได้ว่าอาจทำอันตรายต่อดวงตาได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าแสงสีอื่นจะไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา

                เราอาจเคยได้ยินข่าวที่ว่าแสงสีน้ำเงินหรือแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือ นั้นมีอันตราย แต่แสงสีฟ้าที่อยู่ในช่วงแสงสีเขียวอมฟ้านั้น ถ้าหากได้รับในปริมาณไม่มากก็อาจจะช่วยควบคุมวงจรการหลับและตื่นให้เป็นไปตามปกติได้ แต่สำหรับแสงสีน้ำเงินอมม่วง จะทำให้เกิดอาการตาล้า ตาแห้ง หรือตาพร่ามัวได้ หากได้รับแสงสีน้ำเงินอมม่วงมากเกินไป นอกจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือแล้ว แสงสีน้ำเงินอมม่วงนี้ยังมีอยู่ในแสงแดดอีกด้วย แต่ดวงตาของเรามีกลไกสามารถหรี่ตาและหดรูม่านตาเมื่อมีแสงเข้าสู่ดวงตามากเกินไปโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือแล้ว ปัญหาไม่ได้เกิดจากปริมาณแสงที่มีมากเกินไป แต่เป็นเพราะการจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานโดยกะพริบตาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ผลกระทบของแสงสีฟ้าที่มีต่อร่างกาย

                – เมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอาจทำให้ตาแห้ง หรือเกิดอาการตาพร่ามัว นอกจากนี้แสงสีฟ้าที่ออกจากจอยังส่งผลเสียต่อจอประสาทตา จุดดำตรงกลางสายตา ตาพร่ามัว
หรือมองภาพตรงกลางไม่ชัด ซึ่งเป็นสัญญาณของโรควุ้นในตาเสื่อมหรือจอประสาทตาเขยื้อน มีอันตรายมากถ้ามีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

                – นาฬิกาชีวิตผิดเพี้ยน หากทำงานด้วยคอมพิวเตอร์หรือดูโทรศัพท์มือถือก่อนนอนหลับประมาณ 2-3 ชั่วโมง แสงสีฟ้าจะมีผลต่อนาฬิกาชีวิตด้วยการลดระดับของฮอร์โมนเมลาโทนินที่ทำให้นอนหลับ จึงทำให้นอนไม่หลับ และมีอาการเหนื่อยล้าในวันถัดไป

วิธีการป้องกันแสงสีฟ้าหรือแสงสีน้ำเงินเข้าสู่ดวงตา

                – ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือให้น้อยลง ไม่ดูโทรศัพท์หรือใช้คอมพิวเตอร์ในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน หรือมีการพักสายตาเป็นระยะๆ

                – หลอดไฟส่องสว่างตามบ้านก็มีแสงสีฟ้าปล่อยออกมาเช่นกัน สามารถลดแสงสีฟ้าได้ด้วยการเปลี่ยนมาใช้หลอดสี Warm white แทน Cool white หรือ Day light

                – ตั้งค่าจอคอมพิวเตอร์ให้ปล่อยแสงสีฟ้าออกมาน้อยลง ด้วยการตั้งอุณหภูมิของจอที่ปกติจะตั้งไว้ที่ 6500k มาเป็น 5000k ซึ่งจะลดแสงสีน้ำเงินได้ประมาณ 20% หรือลดความสว่างของจอภาพลงให้พอดีกับสภาพแวดล้อม
(อาจลดได้ถึง 1 ใน 3 ของความสว่างสูงสุดที่จอภาพสามารถทำได้) พร้อมกับการลดอุณหภูมิสีของจอภาพเหลือ 5000k ซึ่งสามารถลดแสงสีฟ้าได้ถึง 5 ใน 6 เมื่อเทียบกับการไม่ปรับจอเลย

                – ในโทรศัพท์มือถือทั้ง android และ ios มีแอพพลิเคชั่นลดแสงสีฟ้าให้ดาวน์โหลดฟรีหลายแอพ ให้ดาวน์โหลดแอพเหล่านี้มาใช้งาน รวมถึงติดฟิล์มกรองแสงที่สามารถตัดแสงสีฟ้าออกไป โดยเลือกฟิล์มที่ได้มาตรฐานเพื่อรับรองความสามารถในการกรองแสงได้จริง

                – การสวมแว่นที่มีเลนส์ชนิดที่สามารถตัดแสงสีฟ้า เพื่อตัดแสงสีฟ้าออกไป โดยอาจเลือกแว่นที่มีเลนส์มัลติโค้ทช่วยตัดแสงสะท้อน และป้องกันรังสี UV เข้าสู่ดวงตาด้วย เพื่อให้ได้ผลในการปกป้องดวงตาหลายอย่าง นอกเหนือจากการกรองแสงสีฟ้าเพียงอย่างเดียว
โดยผู้ที่ใช้แว่นสายตาก็ควรจะสวมแว่นที่มีคุณสมบัติต่างๆ ในอันเดียวกันเพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแว่นหลายๆ อัน แต่ควรเลือกแว่นจากร้านค้าและยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและสามารถกรองแสงและรังสีต่างๆ ออกไปได้จริง

                โดยสามารถใช้วิธีป้องกันแสงสีฟ้าเข้าสู่ดวงตาหลายๆ วิธีพร้อมกันได้ เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด เช่นใส่แว่นที่มีเลนส์ตัดแสงสีฟ้า พร้อมปรับจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือให้ปล่อยแสงสีฟ้าออกมาน้อยลง อยู่ในห้องที่เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดแบบ Warm white เป็นต้น

                อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า แสงทุกสีหากจ้องมองนานเกินไปก็สามารถเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ทั้งหมด เพียงแต่แสงสีฟ้ามีความสว่างมากที่สุดจึงสามารถเข้าถึงจอประสาทตาได้มากที่สุด จึงดูเหมือนว่าแสงสีฟ้าจะเป็นอันตรายมากที่สุดด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะปรับจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือให้ปล่อยแสงสีฟ้าออกมาน้อยลง ตลอดจนติดฟิล์มและสวมแว่นที่มีเลนส์ตัดแสงสีฟ้าแล้วก็ตาม หากยังคงพฤติกรรมใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่หยุดพัก ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อดวงตา ทางที่ดีที่สุดคงจะเป็นการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือให้ลดน้อยลง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรมีการหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อสุขภาพของดวงตาที่ดีที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *