ตาพร่ามัว มองไม่ชัด แก้ปัญหา ยังไงดี

ตาพร่ามัว มองไม่ชัด แก้ปัญหา ยังไงดี

ตาพร่ามัว มองไม่ชัด แก้ปัญหา ยังไงดี

                ปัญหาตาพร่ามัว เป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่มักจะพบเจอ เพราะปัจจุบันมีสาเหตุที่ทำให้ต้องใช้สายตาเป็นเวลานานมากมายเช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ตลอดจนการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งการใช้สายตาเป็นเวลานานนี้เองที่เป็นสาเหตุของอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัด ได้ อาการ ตาพร่ามัว ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Blurred vision ซึ่งหมายความถึง การมองเห็นภาพไม่ชัดเจนเหมือนปกติ อาจเห็นภาพมัวลง ขอบภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน สีภาพผิดไปจากเดิม ภาพมีรอยแหว่ง และ/หรือมีจุดหรือรูในภาพ แต่อาการตาพร่ามัวที่เกิดจากการใช้สายตาเป็นเวลานานนั้น น่าจะมีอาการเพียงแค่การเห็นภาพไม่ชัดเจน เบลอ ที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาเกิดความล้าเท่านั้น

                นอกจากการใช้สายตาเป็นเวลานานจนกล้ามเนื้อตาเกิดความล้าแล้ว อาการตาแห้งที่เกิดจากการกะพริบตาน้อยเกินไป ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาเป็นเวลานานเช่นกัน ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการตาพร่ามัวได้เช่นเดียวกันด้วย

                เมื่อต้องการป้องกันอาการตาพร่ามัว อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สายตา จากเดิมที่เคยใช้สายตาเป็นเวลานาน ก็อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ให้น้อยลง หรือมีการพักสายตาเป็นระยะๆ แต่หากมีความจำเป็น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สายตาได้ ก็อาจฝึกกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรงขึ้นด้วยการบริหารกล้ามเนื้อตา หรือใช้เทคนิคในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา เพื่อลดอาการตาแห้ง และเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อตาด้วยการรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงสายตา

การบริหารกล้ามเนื้อตาเพื่อป้องกันอาการตาพร่ามัว

                – กลอกตาขึ้น-ลง 6 ครั้ง โดยเหลือบตาขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด โดยไม่เกร็งลูกตาระหว่างการบริหาร

                – กลอกตาไปซ้ายและขวาสลับกัน โดยกลอกตาไปซ้ายสุดและขวาสุด ทำสลับกัน 2-3 ครั้ง

                – ชูนิ้วชี้ขึ้นมาให้อยู่ในระดับสายตา ห่างจากดวงตาประมาณ 8 นิ้ว แล้วจ้องมองไปยังที่ห่างออกไปประมาณ 10 ฟุต สลับกับการมองที่นิ้วชี้หรือจุดที่ใกล้กับนิ้วชี้ที่ยกขึ้นมา ใช้เวลามองแต่ละที่ประมาณ 2-3 วินาที สลับกันไปมา 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำ 2-3 รอบ

                – กลอกตาเป็นวงกลมช้าๆ โดยกลอกตาตามเข็มนาฬิกาก่อน แล้วจึงกลอกตาทวนเข็มนาฬิกา ทำ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำ 2-3 รอบ

                การบริหารกล้ามเนื้อตาเพื่อป้องกันอาการตาพร่ามัวนี้ ให้ทำบ่อยๆ โดยอาจจะทำทุกวันก่อนนอนและหลังตื่นนอน หรือทำเมื่อนึกออก ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันอาการตาพร่ามัวได้ แต่ต้องทำการบริหารอย่างมีวินัยให้เป็นกิจวัตร

เทคนิคเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา

                – การเพิ่มการกะพริบตา โดยปกติแล้วคนเราจะกะพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง ในแต่ละครั้งที่กะพริบตา จะมีน้ำตามาเคลือบผิวตาเพื่อหล่อเลี้ยงดวงตาให้มีความชุ่มชื้น ป้องกันตาแห้ง แต่หากมีการใช้สายตาอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ จะทำให้การกะพริบตาลดลงเหลือ 8-10 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะมีน้ำตามาหล่อเลี้ยงดวงตาไม่พอเพียง ดังนั้นเราจึงควรพักสายตา และกะพริบตาถี่ๆ เพื่อให้มีน้ำตามาหล่อเลี้ยงดวงตา ในทุกๆ ครึ่งชั่วโมง

                – การประคบดวงตาด้วยผ้าเย็น แช่ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2 ผืนในน้ำเย็น หยิบขึ้นมา 1 ผืน บิดพอหมาดและพับทบเป็นผืนยาว วางปิดดวงตาไว้ทั้งสองข้างนานประมาณ 20 นาที หรือจนกว่าผ้าจะหายเย็น แล้วจึงใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งประคบสลับกันไปมา จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาของคุณได้เช่นกัน

การรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงสายตา

                – อาหารที่มีสาร omega-3 ซึ่งอาหารที่มี omega-3 ที่สามารถบำรุงดวงตานี้ มีอยู่ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแม็คเคอเรล ปลาทูน่า หรือผู้ที่แพ้อาหารทะเลก็อาจเลือกเป็นปลาน้ำจืดที่มี omega-3 เช่นปลาช่อน ปลาสวาย หรือปลาดุก ซึ่งหาได้ง่ายในประเทศไทยและมีราคาถูกกว่าปลาทะเล แต่หากไม่ชอบปลาก็ยังมี omega-3 จากพืช เช่น เมล็ดวอลนัท บรอคโคลี่ ดอกกะหล่ำ เต้าหู้ ผักขม ถั่วเหลือง เป็นต้น

                – อาหารที่มีสารลูทีน(Lutein) และ ซีแซนทีน(Zeaxanthin) ทั้งสองเป็นสารประเภทเดียวกัน และเป็นสารในกลุ่มแคโรทินอยด์ ที่จะพบอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเรติน่า เพื่อทำหน้าที่ดูดซับแสงสีน้ำเงินหรือสีฟ้าที่มักจะส่งออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับดวงตา อาหารที่มีสารลูทีนและซีแซนทีน มักจะอยู่ในดอกดาวเรือง และโกจิเบอรี่ (เก๋ากี้) นอกจากนี้ก็ยังมี กะหล่ำ ผักโขม ถั่วลันเตา ผักกาด ต้นอ่อนกะหล่ำดาว ถั่วพิสตาชิโอ บรอกโคลี ข้าวโพด ไข่ และแครอท เราอาจหาซื้ออาหารเหล่านี้มารับประทานเพื่อบำรุงสายตาและป้องกันอาการตาพร่ามัวได้ในราคาถูก โดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารเสริมที่มีราคาแพง

                ในการป้องกันอาการตาพร่ามัว อาจใช้วิธีการป้องกันตาพร่ามัวทั้ง 3 วิธีร่วมกัน คือการบริการกล้ามเนื้อตา การใช้เทคนิคเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา และการรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงสายตา นอกจากนี้ หากมีการปรับพฤติกรรมการใช้สายตาร่วมด้วย คือไม่จ้องมองจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นเวลานานเกินไป ก็น่าจะเป็นการป้องกันอาการตาพร่ามัว ไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด